"กระดาษ" เป็นสิ่งที่ใช้สำหรับจดบันทึกในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งประวัติของกระดาษนั้นมีที่มาอยู่หลายแบบและมีเอกลักษณ์ที่ต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศนั้น ๆ สำหรับวันนี้แอดมินก็ได้หยิบเรื่องของกระดาษญี่ปุ่นโบราณชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า "วาชิ (和紙) " ซึ่งถ้าถามว่าทำไมถึงเรียกว่ากระดาษโบราณ นั่นก็เป็นเพราะว่ากระดาษชนิดนี้ได้ถูกคิดค้นและใช้มาถึงทุกวันนี้เป็นพันปีนั่นเองค่ะ
ว่ากันว่าการผลิตกระดาษวาชิ มีการใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อ 200 ปีก่อน กระดาษวาชินั้นทำจากเยื่อของเปลือกไม้ต่างๆ ได้แก่ ต้นบาค ต้นแกมปิ ต้นไผ่ ต้นโคโสะ ต้นมิตซูมาตะ ไปจนถึงเปลือกเยื่อจากข้าวสาลี
สำหรับวิธีการทำกระดาษนั้น กระดาษวาชิได้รับอิทธิพลมาจากการทำกระดาษจากประเทศจีน และต่อมาญี่ปุ่นจึงพัฒนาเทคนิคการผลิตกระดาษขึ้นมาเอง จากเทคนิคของประเทศจีนที่ใช้วิธีปล่อยให้เยื่อนั้นตกตะกอนและทำการเกลี่ยเยื่อให้กระจายตัวออกจากกัน เปลี่ยนมาเป็นเทคนิคการปล่อยให้น้ำไหลผ่านและเอียงกรอบไม้ไปมาเผื่อให้เยื่อของกระดาษมีความหนาที่เท่ากันในทุกส่วน ซึ่งเทคนิคนี้มีชื่อเรียกว่า "นางาเระสุกิ (流れ漉き)" โดยกว่าจะได้กระดาษที่มีความเรียบสวยเท่ากันทั้งแผ่นนั้น ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรซึ่งสิ่งนี้เองได้แสดงถึงความพิถีพิถันของชาวญี่ปุ่นที่ทำออกมาได้ประณีตและมีคุณภาพ
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้วาชินั้นต่างจากกระดาษทั่วไปคือน้ำที่ใช้ทำนางาเระสิกิ โดยน้ำที่ใช้ทำกระดาษวาชิจะต้องเป็นน้ำอ่อนที่มีปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมต่ำเท่านั้น เพราะว่าหากใช้น้ำประปาทั่วไปผลที่ได้คือจะทำให้กระดาษเปลี่ยนสีเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องมาจากในน้ำประปานั้นมีเกลือผสมอยู่นั่นเอง
นอกจากการนำกระดาษมาใช้สำหรับจดบันทึกแล้ว ชาวญี่ปุ่นก็ได้นำกระดาษมาประยุกต์ใช้ในสิ่งของอื่น ๆ อีกด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำโคมไฟญี่ปุ่น, ร่มกระดาษญี่ปุ่น ไปจนถึงประตูบานเลื่อนที่เราเห็นกันจนถึงปัจจุบันนี้เลยค่ะ
กระดาษวาชิ ถือว่าเป็นกระดาษที่มีความเป็นมาที่ยาวนานชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับกระดาษประเทศอื่น ๆ ถ้าเราประยุกต์ใช้สิ่งของรอบตัวให้เกิดคุณค่าและสืบสานมาถึงปัจจุบันได้ สิ่งของเหล่านั้นก็จะมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น และควรเก็บรักษาเอาไว้ให้กับคนรุ่นถัดไปได้ชมถึงความงดงามของสิ่งเหล่านี้นะคะ
อ้างอิง
- ภาพจาก 代傳統工法製造的傳統紙漿和紙體驗, เข้าถึงจาก kagoshima-kankou.com
- บทความจาก OntheTable, เข้าถึงจาก On the Table Tokyo Cafe
- บทความ Paper Making, เข้าถึงจาก readthecloud.co
Comments